ประวัติศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการบ้านโมกุลฯ จังหวัดลพบุรี
ศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการบ้านโมกุล เฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จังหวัดลพบุรี เดิมใช้ชื่อว่า ศูนย์บริการสวัสดิการสังคมเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตั้งอยู่บนเนื้อที่ ๗๐ ไร่ ภายในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติวังเพลิง – ม่วงค่อม – ลำนารายณ์ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เดิมเป็นที่ตั้งของ “สำนักสงฆ์นครโมกุล” ต่อมา หลวงพ่อเจริญ ปานจันทร์ ผู้ก่อตั้งสำนักสงฆ์ ได้น้อมเกล้าถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และทรงมอบให้กรมประชาสงเคราะห์สมัย คุณหญิงสมศรี กันธมาลา เป็นอธิบดีในขณะนั้นดูแล โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดี ในขณะนั้น ได้แต่งตั้งกรรมการจากภาครัฐและภาคเอกชนร่วมรณรงค์หาทุนในการก่อสร้างและปรับปรุงอาคารดังกล่าว เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์บริการสวัสดิการสังคมเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และได้รับความอนุเคราะห์จาก พลเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดี ซึ่งกำกับดูแลงานกระทรวงมหาดไทยและกองทัพบกทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ออกแบบ และได้กำลังจากหน่วยกองทัพพัฒนาที่ ๑ กองทัพบก ซึ่งขณะนั้นอยู่ในบังคับบัญชาของ พลตรีนฤนาท กัมปนาทแสนยากร เป็นผู้ดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเก่าและก่อสร้างอาคารใหม่บนที่ดินเดิม อีกทั้งอธิบดีกรมชลประทาน (นายสวัสดิ์ วัฒนายากร) ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการปรับปรุงสถานที่ เห็นว่าควรทำอ่างเก็บน้ำใกล้บริเวณศูนย์ฯ แห่งนี้ ๒ แห่ง เพื่อแก้ปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำ และสามารถจ่ายน้ำให้ประชาชนพื้นที่ใกล้เคียงได้ใช้ประโยชน์ในฤดูที่ขาดแคลนน้ำ การก่อสร้างและปรับปรุงสถานที่ รวมทั้งก่อสร้างอาคารใหม่เพิ่มเติม ตลอดจนการจัดระบบเก็บน้ำและจ่ายน้ำ ใช้งบประมาณทั้งสิ้นจำนวน ๓๕ ล้านบาทเศษ ศูนย์บริการสวัสดิการสังคมเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยในเดือนสิงหาคม ๒๕๓๕ ใช้เวลาทั้งสิ้น ๘ เดือน
ภายหลังการก่อสร้างศูนย์บริการสวัสดิการสังคมเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ แล้วเสร็จ ได้มอบเงินบริจาคให้กรมประชาสงเคราะห์ไว้ใช้จ่ายในการซ่อมแซมอาคารของศูนย์ฯ และได้นำมาจัดตั้ง “มูลนิธิงานสวัสดิการสังคมเฉลิมพระเกียรติ ๕ รอบ” เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานบริการสวัสดิการ การพัฒนาคุณภาพชีวิต การฝึกอาชีพและสนับสนุนทุนการศึกษาแก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคมต่อไป
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิด “อาคารเฉลิมพระเกียรติพระชนมพรรษา ๕ รอบ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๓๕” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๕ เวลา ๑๖.๐๐ น.
วัตถุประสงค์การก่อตั้งศูนย์บริการสวัสดิการสังคมเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
- เพื่อเป็นการถวายความจงรักภักดีและเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๕ รอบ ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๓๕ ของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน และประชาชนทุกหมู่เหล่า
- เพื่อเป็นศูนย์กลางให้บริการสวัสดิการสังคมครบวงจร คือ แก้ไข ฟื้นฟู ป้องกันปัญหาและพัฒนาสังคม โดยเน้นการฝึกอาชีพแก่ผู้ด้อยโอกาส ได้แก่ เด็ก เยาวชน สตรี คนชรา และคนพิการ ที่ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม ให้มีโอกาสฝึกอบรมวิชาชีพเพื่อประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวสืบไป
- เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเพิ่มพูนความรู้และทักษะการประกอบอาชีพสาขาต่างๆ ตามความถนัดและความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะจะเน้นในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส
ศูนย์บริการสวัสดิการสังคมเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สังกัดกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๕ ให้บริการสวัสดิการสังคม ฝึกอาชีพให้กับเด็ก เยาวชน สตรี คนชรา คนพิการและครอบครัว ในสาขาอิเล็กทรอนิกส์ ช่างยนต์ เสริมสวย หัตถกรรมเครื่องหนัง ตัดเย็บ และนวดแผนไทย และต่อมาได้เปลี่ยนมาสังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ และจากการปรับโครงสร้างของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ จึงโอนมาสังกัดกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการบ้านโมกุล เฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จังหวัดลพบุรี” หรือเรียกทั่วไปว่า “บ้านโมกุล”
ปัจจุบัน ศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการบ้านโมกุลฯ ๕ รอบ (ราชินี) จังหวัดลพบุรี มีภารกิจในการคุ้มครอง ส่งเสริมสิทธิ และสวัสดิการของคนพิการ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพและทักษะด้านอาชีพคนพิการและผู้ดูแล เพื่อความมั่นคงในการดำรงชีวิตในสังคม รวมทั้งสงเคราะห์บำบัด ฟื้นฟูสมรรถภาพ และส่งเสริมทักษะสังคมให้คนพิการช่วยเหลือตนเองได้ สามารถดำรงชีวิตอิสระอย่างสร้างสรรค์ และอยู่ร่วมกับชุมชนและสังคมอย่างปกติสุข